เปิดห้องประหาร และการมอบโทษประหารในสังคมญี่ปุ่น โทษสูงสุดที่ไม่ต้องเตือนล่วงหน้า!!
สารบัญ
จากกระแสข่าวการประหารชีวิตผู้นำและสมาชิกลัทธิโอม ชินริเกียว ทั้งสิ้น 7 ชีวิต เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา ในกรณีคดีโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ จากเหตุก่อการร้ายด้วยสารพิษซารินอย่างอุกอาจ ณ สถานีรถไฟใต้ดินของกรุงโตเกียวเมื่อปี 1995 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันที 13 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกกว่า 6,000 รายทั้งในระยะสั้นและยาว กลายเป็นประเด็นร้อน ดึงดูดความสนใจของผู้คนไม่เพียงแต่ชาวญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ทั้งโลกต่างก็จับตามอง และนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมายต่อกระบวนการประหารชีวิตที่ญี่ปุ่นดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน
ความต่างของโทษประหารในญี่ปุ่นและอเมริกา
ประเทศญี่ปุ่นถือเป็น 1 ใน 2 ประเทศพัฒนาแล้ว ในระบอบประชาธิปไตย (ร่วมกันกับสหรัฐอเมริกา) ที่มอบความตายให้กับประชาชนของตนเองด้วยการบังคับใช้กฎหมายที่มีโทษประหารชีวิต
แต่พบว่ากระบวนการของการมอบโทษประหารของญี่ปุ่นและอเมริกามีความแตกต่างกันอยู่ที่ว่า กระบวนการของอเมริกาจะต้องมีการกำหนดวันที่ ที่จะทำการประหารชีวิตผู้รับโทษอย่างชัดเจนล่วงหน้าพอสมควร ในขณะที่ทางฝั่งญี่ปุ่น ผู้รับโทษจะได้รับการบอกกล่าวล่วงหน้าเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ ในเช้าตรู่ของวันรับโทษ เพื่อให้พวกเขาตระหนักว่า วันนี้เอง จะเป็นวันสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ในโลกใบนี้ (โดยปกติแล้ว พบว่าจะเป็นเวลาเพียง 1 ชั่วโมงก่อนการประหารจะมีขึ้นเท่านั้นเอง)

ในลักษณะนี้เอง โทษประหารของญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงที่รุนแรงมากขึ้นในวงกว้าง โดยเฉพาะกับองค์กรสหประชาชาติที่ตั้งประเด็นต่อต้านกระบวนการอันสุดแสนจะทรมานนี้ ที่ทั้งสร้างความกดดันให้กับตัวผู้รับโทษ และล่วงเลยไปถึงภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นกับครอบครัวผู้รับโทษด้วยเช่นกัน
กระบวนการสุดท้าย และวาระสุดท้ายของชีวิต

ในห้องประหารชีวิต มีเพียงผู้รับโทษ เจ้าหน้าที่เรือนจำ และนักบวชเท่านั้น ที่จำเป็นต่อการดำเนินงานขั้นสุดท้ายนี้…

โดยที่ญี่ปุ่นยังคงใช้วิธีการแขวนคอแบบดั้งเดิม เพียงแต่ทำในสถานที่ที่ดูสะอาด สงบ และทันสมัย ผู้รับโทษจะถูกปิดตา และคลุมศรีษะไว้อย่างมิดชิดด้วยถุงคลุมสีดำ ก่อนจะถูกนำร่างที่ยังคงมีสติเข้าประจำที่ และใช้เพียง 3 สิ่งในขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ เชือก ประตูสลักล่าง และแรงโน้มถ่วง…

ณ ห้องตรงข้ามจะมีเจ้าหน้าที่ 3 คน คอยอยู่ด้วยความพร้อมที่จะกดปุ่มเปิดประตูสลักล่างให้เปิดออกพร้อม ๆ กัน และปล่อยให้ส่วนที่เหลือ เป็นหน้าที่ของแรงโน้มถ่วง…ณ จุดนี้ จึงไม่เป็นที่แน่ชัด ว่าเจ้าหน้าที่คนใดเป็นผู้รับผิดชอบต่อการตายตรงหน้า และเพื่อป้องกันความผิดพลาด ความลังเลสงสัยที่อาจเกิดขึ้นในจิตใจของเจ้าหน้าที่คนใดคนหนึ่ง…
ประเทศญี่ปุ่นมอบโทษประหารชีวิตปีละกี่คนกันนะ!?
จากรายงานล่าสุดของกระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า ในช่วงปี 2012 – 2016 มีนักโทษจำนวน 24 คนได้รับโทษประหาร

โดยที่รายชื่อของผู้ได้รับโทษแขวนคอจะถูกประกาศในภายหลัง กระทั่งปี 2007 กระทรวงยุติธรรมได้เริ่มกระบวนการเปิดเผยรายชื่อผู้รับโทษ พร้อมทั้งระบุคดีความที่ได้ก่อขึ้น อันเป็นเหตุแก่โทษสูงสุดที่พวกเขาได้รับ
ทั้งนี้พบว่า จำนวนผู้รับโทษเฉลี่ยโดยประมาณต่อปีมักจะไม่เกิน 10 คน อย่างเช่นในช่วงปี 1997 – 2007 ไม่ปรากฏว่ามีปีใดที่มีการมอบโทษประหารชีวิตมากเกินกว่า 9 คน
แล้วสังคมญี่ปุ่นสนับสนุนการมีอยู่ของโทษประหารหรือไม่?
ในปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่นได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของสาธารณชน พบว่า 80.3% สนับสนุนการมีอยู่ของโทษประหาร ในขณะที่ชาวอเมริกันเพียง 54% เห็นว่าควรมีโทษประหารในประเทศตนเอง
เมื่อฟังความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ต่อต้านการมีอยู่ของโทษประหารชีวิต ก็ได้ให้ประเด็นที่น่าสนใจว่า การขาดซึ่งการให้ข้อมูล ความรู้เรื่องสิทธิของผู้รับโทษในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง คือกุญแจสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการสนับสนุนให้ผู้คนคิดว่าโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งจำเป็นและมีคุณค่า รวมถึงไม่มีหนทางอื่นที่ดีกว่าโทษประหารอีกแล้ว
ในปี 2010 ได้เกิดกระแสทางสังคม ถกเถียงในประเด็นนี้เป็นวงกว้าง จากกรณีการลาออกของผู้พิพากษานามว่า Keiko Chiba ที่คัดค้านการมีอยู่ของโทษประหาร และกระแสอันรุนแรงนั้น นำไปสู่การเปิดเผยห้องประหารชีวิตแก่สื่อและสาธารณะเป็นครั้งแรก โดยมุ่งหวังให้เกิดการถกเถียงในวงกว้าง

จากนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน โทษประหารก็ยังคงมีอยู่ และถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องด้วยกรณีผู้รับโทษในคดีโศกนาฏกรรมโดยลัทธิโอม ชินริเกียวเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ
คอยติดตามกันต่อไปครับ ว่ากระแสสังคมและการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางไปทั่วโลกครั้งนี้ จะนำสังคมและกฎหมายโทษประหารชีวิตของญี่ปุ่นไปสู่ทิศทางใด และอย่างไรต่อไป?
ที่มา: NewYorkPost