ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาที่มีคำศัพท์ที่ความหมายล้ำลึกและเฉพาะตัวมากมาย ซึ่งหลาย ๆ คำก็ล้วนเกิดจากลักษณะเฉพาะของคนญี่ปุ่นที่มีความละเอียดอ่อนและโดดเด่นไม่เหมือนชาติอื่นๆ ทำให้เกิดคำศัพท์หรือวลีที่ไม่สามารถแปลเป็นภาษาไทยหรือภาษาอื่นได้ หรือแม้จะแปลได้ก็ไม่มีคำแปลที่ตรงกันเป๊ะในภาษาอื่น ในครั้งนี้เราได้รวบรวมคำศัพท์ญี่ปุ่นน่าสนใจที่ไม่มีคำแปลตรงตัวในภาษาไทยมาฝาก 15 คำค่ะ
Otsukaresama | お疲れ様
คำนี้ถ้าแปลเป็นไทยให้ใกล้เคียงที่สุดจะแปลว่า ขอบคุณในความเหนื่อยยาก เป็นวลีที่มักใช้ในที่ทำงานเพื่อทักทายและบอกลาคนในบริษัทและต่างบริษัท รวมไปถึงตอนที่คุยกันผ่านทางโทรศัพท์ด้วย
Bimyou | 微妙
คำนี้หากแปลตามพจนานุกรมจะหมายถึง ละเอียด, เบาบาง แต่ความจริงแล้วเป็นคำที่มีความหมายกำกวมพอสมควร สามารถใช้ได้ในหลายสถานการณ์ บางครั้งแปลว่า ละเอียดอ่อน บางครั้งก็แปลว่า พูดยาก หรือ ก็ไม่รู้สิ เช่น ถ้าเพื่อนถามว่า ชอบเสื้อตัวนี้มั้ย แล้วเรารู้สึกว่าตอบยาก ไม่ถึงกับชอบแต่ก็ไม่ได้ไม่ชอบเลย ก็ตอบว่า Bimyou ได้
Irusu | 居留守
หมายถึง การแสร้งทำเป็นไม่อยู่บ้าน ปิดไฟ ปิดโทรทัศน์อยู่เงียบๆ โทรศัพท์มาไม่รับ มีคนกดกริ่งก็ไม่ออกไปดู ทำเหมือนว่าไม่มีใครอยู่
Natsukashii | 懐かしい
หมายถึง การหวนคิดถึงเรื่องเก่าๆ ที่น่าจดจำ มักจะใช้เวลานึกถึงความทรงจำดีๆ ในอดีตที่เราอยากย้อนกลับไป หากแปลคำนี้เป็นภาษาไทยให้ใกล้เคียงก็จะแปลได้ประมาณว่า “คิดถึง (เรื่องราวหรือช่วงเวลา) ตอนนั้นจังเลย”
Kuidaore | 食い倒れ
หมายถึง การใช้จ่ายเงินไปกับของกินมากเกินไปจนถึงขั้นเงินหมดล้มละลาย คำนี้เป็นคำที่มีที่มาจากโอซาก้า จังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องของอร่อยมากมายนับไม่ถ้วน
Age-Otori | 上げ劣り
หมายถึง การที่ทำผมหรือตัดผมใหม่ออกมาแล้วดูแย่ลงกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นเหตุการณ์คาดไม่ถึงที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน คำนี้ตรงข้ามกับคำว่า 上げ優り (Age-Masari) ที่แปลว่า ดูดีขึ้นหลังตัดผมหรือทำผมเสร็จ
Yugen | 幽玄
หมายถึง ความงามอันลึกลับและลึกซึ้งของธรรมชาติและจักรวาล เป็นคำที่อธิบายยากอยู่สักหน่อย Alan Watts นักเขียนและนักพูดชาวอังกฤษเคยอธิบายคำนี้ไว้ว่า “คุณจะรู้สึกถึง yugen ตอนที่มองเห็นกลุ่มเรือหลบอยู่หลังเกาะที่อยู่ห่างไกลออกไปในผืนน้ำ หรือตอนที่มองข้ามภูเขา Tamalpais แล้วคุณไม่เคยไปยังอีกฟากหนึ่งและคุณเห็นท้องฟ้าที่อยู่ไกลออกไป แต่คุณจะไม่ข้ามไปดูว่ามีอะไรอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของภูเขา เพราะถ้าทำแบบนั้นมันจะไม่ใช่ yugen คุณปล่อยให้อีกฟากหนึ่งเป็นอีกฟากหนึ่ง และมันกระตุ้นให้เกิดจินตนาการบางอย่างในตัวคุณ โดยที่คุณไม่ต้องพยายามไปนิยามมัน”
Wabi-sabi | わびさび
หมายถึง สุนทรียภาพอันเรียบง่าย การมองหาความงามในชีวิตที่ไม่ต้องสมบูรณ์แบบ และยอมรับในวัฏจักรชีวิตที่มีการเกิดและเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา คำนี้เป็นหนึ่งในปรัชญาแห่งการดำรงชีวิตที่ฝังรากลึกอยู่ในจิตวิญญาณของชาวญี่ปุ่น
Ukiyo | 浮世
หากแปลตรงตัวจะแปลว่า โลกที่ล่องลอย แต่ความจริงแล้วหมายถึง โลกที่ไม่จีรังยั่งยืน เป็นคำที่เกิดขึ้นในยุคเอโดะเมื่อผู้คนเริ่มมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายคนจึงหันมาใช้ชีวิตอย่างบันเทิงเริงรมย์แทนที่จะเคร่งครัดในศาสนาอย่างแต่ก่อน โดยมองว่าในเมื่อโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน ก็ควรปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่บันเทิงใจดีกว่า คำนี้จึงใช้เพื่อแสดงถึงการปล่อยตัวปล่อยใจไปกับสิ่งที่บันเทิงต่างๆ คำนี้ยังเป็นที่มาของภาพ Ukiyoe (浮世絵) ซึ่งเป็นภาพพิมพ์บนแผ่นไม้สีสันสดใสที่ได้รับอิทธิพลจากการใช้ชีวิตของผู้คนสมัยใหม่ที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อน
Komorebi | 木漏れ日
หมายถึง แสงที่ส่องผ่านใบไม้บนต้นไม้ลงมา ทำให้มองเห็นเป็นเงาของใบไม้สลับกับแสงอาทิตย์บนพื้นหรือสิ่งที่แสงตกกระทบสวยงาม
Shinrinyoku | 森林浴
ถ้าแปลตรงๆ จะแปลว่า การอาบป่า หมายถึง การเข้าไปในป่าเพื่อผ่อนคลายและเยียวยาร่างกายและจิตใจ หายใจรับอากาศบริสุทธิ์ ดื่มด่ำกับธรรมชาติรอบตัว อยู่กับความสงบเงียบในป่าเพื่อให้เกิดสมาธิ ซึ่งก็คือการทำธรรมชาติบำบัดอย่างหนึ่งนั่นเอง
Kintsugi | 金継ぎ
หมายถึง การซ่อมเครื่องปั้นดินเผาด้วยแลคเกอร์ผสมทองคำ ซึ่งเป็นเทคนิคทางศิลปะอย่างหนึ่งของญี่ปุ่นที่แสดงให้เห็นถึงความงามที่ไม่สมบูรณ์แบบหรือ Wabi-sabi อีกคำหนึ่งที่ใช้แทนกันได้คือ Kintsukuroi (金繕い)
Kogarashi | 木枯らし
หมายถึง ลมหนาวปลายฤดูใบไม้ร่วงที่บอกให้เรารู้ว่าฤดูหนาวกำลังจะมาถึง เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความแตกต่างของ 4 ฤดูกาลชัดเจน ประกอบกับการที่คนญี่ปุ่นมีหลักการดำเนินชีวิตที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติและการผันแปรของสรรพสิ่งตามกาลเวลา ทำให้มีคำศัพท์ที่บ่งบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและฤดูกาลเกิดขึ้นมากมาย
Itadakimasu | いただきます
เป็นวลีที่คนญี่ปุ่นมักจะพูดก่อนรับประทานอาหาร เพื่อแสดงออกถึงการนึกถึงบุญคุณและขอบคุณทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอาหารนั้น รวมไปถึงวัตถุดิบอย่างเนื้อสัตว์และผักต่างๆ ที่สละชีวิตมาเป็นอาหารมื้อนั้นด้วย อีกคำที่ใช้คู่กันคือคำว่า Gochisosama (ごちそうさま) ซึ่งจะพูดหลังจากที่รับประทานอาหารเสร็จแล้ว เพื่อขอบคุณคนที่เตรียมอาหารให้เราทานจนอิ่ม
อ่านเพิ่มเติม: ความหมายที่แท้จริงของคำว่า “อิตาดาคิมัส” ที่คนญี่ปุ่นพูดก่อนทานอาหาร
Fuubutsushi | 風物詩
หมายถึง สิ่งที่ทำให้นึกถึงฤดูกาลใดฤดูกาลหนึ่งเป็นพิเศษ ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งของ เหตุการณ์ ความรู้สึก กลิ่น ภาพ หรืออะไรก็ได้ เช่น คนญี่ปุ่นเห็นพลุแล้วนึกถึงฤดูร้อน เห็นซากุระแล้วนึกถึงฤดูใบไม้ผลิ เป็นต้น